Article

‘พลเมืองตื่นรู้ สู้โกง’ มิติใหม่ของการต้านโกง

โดย ACT โพสเมื่อ Jan 09,2018

 
สังคมไทยมีความหวังมากขึ้นในการกำจัดคอร์รัปชัน เพราะความรู้และทัศนคติของคนไทยต่อพฤติกรรมโกงกินได้เปลี่ยนไปมาก จากเคยยอมจำนนว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกัน และเป็นหน้าที่ของรัฐบาล หรือ ป.ป.ช. ในการป้องกันและไล่จับคนโกง มาวันนี้คนส่วนใหญ่นอกจากจะปฏิเสธและรังเกียจการโกงกินแล้ว ยังพยายามเข้ามามีส่วนร่วมลงไม้ลงมือในการแก้ปัญหา ไม่ดูดายปล่อยตามยถากรรมให้เป็นเรื่องของราชการอีกต่อไป ความเข้มแข็งในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอร์รัปชันของภาคประชาชนจึงก้าวหน้าอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ผลงานและความเสียสละมากมายที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวที่ คนไทย นักธุรกิจ ข้าราชการยุคใหม่ เยาวชนหัวทันสมัย สื่อมวลชนและนักวิชาการที่ตื่นรู้ได้มาร่วมลงมือต่อสู้กับภัยคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัว

 
คนไทยเข้าใจและพร้อมสู้

กรณีแหวนเพ็ชรและนาฬิกาหรู เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เมื่อใดก็ตามที่ข้อมูลไม่ชอบมาพากลถูกเปิดเผยออกมา (แม้จะไม่ตั้งใจ) การตรวจสอบรอบด้านโดยประชาชนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมาก ยังมีข้อมูลโกงกินของนักการเมืองและข้าราชการจำนวนมากที่ถูกบอกเล่าจากประชาชนผ่านสื่อออนไลน์อย่าง เพจ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ เพจ ‘ต้องแฉ’ ‘สำนักข่าวอิศรา’ ‘สำนักข่าวไทยพับลิก้า’ รวมทั้งสื่อหลักอย่าง หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ต่างๆ ก็ใส่ใจผลิตรายการเจาะประเด็นคอร์รัปชันมากขึ้น

ที่น่ายินดีกว่านั้นคือการได้รู้ว่า วันนี้ประชาชนไม่ได้รอว่ารัฐบาลจะทำอะไรเพื่อป้องกันหรือจับคนโกง แต่ประชาชนจำนวนมากพร้อมที่จะร่วมลงมือทำกันเอง เพียงแต่ขอให้รัฐเปิดใจสนับสนุนให้นโยบายเปิดเผยข้อมูลสาธารณะเกิดขึ้นจริงจังตามมาตรฐานสากล พร้อมกับคอยปกป้องให้เขามีสิทธิมีเสียง มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ช่วยให้เขาสามารถรวมตัวกันต่อสู้เปิดโปงเรื่องฉ้อฉลโดยไม่ต้องกลัวการข่มขู่คุกคามเช่นที่ผ่านๆ มา

ความจริงข้อนี้ยืนยันได้จากการออกไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ รวมทั้งผลการสำรวจของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ

 
ภาคเอกชนที่ใส่ใจ รับผิดชอบ

โครงการใหญ่และสำคัญมากที่ต้องกล่าวถึงคือ ‘โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต’ หรือ CAC ที่ต้องการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันด้วยความร่วมมือกันของภาคธุรกิจ และโครงการร่วมมือของธุรกิจตลาดทุนในการจัดตั้ง ‘กองทุนธรรมาภิบาลไทย’ 11 แห่ง ที่สามารถระดมทุนรวมกันได้เกือบ 4 พันล้านบาท เพื่อไปลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม และเมื่อกองทุนมีกำไรก็แบ่งปันออกมาถึงร้อยละ 40 ไปอุดหนุนโครงการเพื่อสังคมและการต่อต้านคอร์รัปชันที่ดำเนินการโดยประชาชนอีกด้วย

ทุกวันนี้มีบริษัทที่มีชื่อเสียงและนักธุรกิจรุ่นใหม่จำนวนมาก ตั้งใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้สังคมดีขึ้น ด้วยวิธีการที่ตนเองถนัดและมีทรัพยากรอยู่ เราจึงได้เห็นการรณรงค์ในภาคเอกชนด้วยกันเองให้หันมาใส่ใจและรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นแทนที่จะมุ่งแสวงหากำไรอย่างไม่สิ้นสุด ผลงานดีๆ หลายอย่างจึงปรากฏในปีที่ผ่านมา เช่น ภาพยนต์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง เกมส์สำหรับวัยรุ่น ชื่อ คอร์รัป - จะหยุดยั้งหรือปล่อยไป หลักสูตรสุจริตไทย พ็อคเก็ตบุ๊คดีๆ เช่น สมการคอร์รัปชัน หมากระดิกหาง ฝ่าวิกฤติคอร์รัปชันไทย การจัดงานมหกรรมทำดีหวังผล สังคมดี๊ดี 2 นาทีง่ายๆ และอีกหลายอย่างที่เกิดจากความต้องการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ

 
ข้าราชการกับการดูแลกันเอง

‘ลงมือทำดีแม้ไม่มีคำสั่งหรือนโยบายจากรัฐบาล’ เป็นสิ่งที่พบเห็นจากการที่ ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้อำนวยการและข้าราชการรุ่นใหม่จำนวนมากได้ลงมือทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี พร้อมๆ ไปกับการเชิญชวนให้เพื่อนในหน่วยงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตสำนึกและรับผิดชอบ เพื่อให้หน่วยงานของตนเป็น ‘องค์กรที่ดี’ ที่ทุกคนสามารถทำงานอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวลกับการกดดันแทรกแซงที่ไม่ชอบธรรมใดๆ

กอปรกับมีแนวคิดใหม่ว่า ‘คอร์รัปชันในระบบราชการจะลดลงอย่างมาก หากข้าราชการในหน่วยงานกันเองไม่ยินยอม’ และเมื่อตรวจพบความผิดก็จัดการลงโทษพร้อมหาทางแก้ไขป้องกันในทันที โดยไม่ต้องรอเวลาให้หน่วยงานภายนอกอย่าง ป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือ สตง. มาตรวจสอบเสียก่อน

หน่วยงานสำคัญอย่าง ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวง (ศปท.) ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับข้าราชการ เริ่มได้รับการส่งเสริมและสร้างความเข้าใจกับเพื่อนข้าราชการ หน่วยงานนี้จึงมีความสำคัญมากกว่าหน่วยงานหรือคณะกรรมการนับสิบที่รัฐบาล ก.พ. หรือ กพร. จัดตั้งขึ้นและทำงานซ้ำซ้อนกันโดยไม่มีผลงานที่จับต้องได้

ความสำเร็จในการรณรงค์ให้มีการประกาศนโยบาย ‘ไม่ให้ – ไม่รับของขวัญในเทศกาลปีใหม่’ จากข้าราชการชั้นผู้น้อยและนักธุรกิจในปี 2560 ก็ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ ศปท.

 
นักวิชาการร่วมคิดหาความรู้มาสู้โกง

การเอาชนะคอร์รัปชันจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจบนพื้นฐานความเป็นจริง มากกว่าความเชื่อหรือใช้ความรู้สึกไปตัดสินสิ่งที่มองเห็นและได้ยิน ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการสนับสนุนและผลงานวิจัยที่มีประโยชน์จำนวนมากจากสถาบันต่างๆ อย่าง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สภาพัฒน์ฯ ทีดีอาร์ไอ ป.ป.ช. และมูลนิธิบางแห่ง  แน่นอนว่าความรู้ที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาที่ต้นตอได้อย่างคุ้มค่า ตรงประเด็นมากขึ้น

มีการจัดตั้งสถาบันวิชาการด้านธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นในมหาวิทยาลัยรังสิต นิด้า จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ยังมีการรวมกลุ่มนักวิชาการรุ่นใหม่อย่าง สยามแล็ป รู้ทันกันโกง แฮนด์ เชนจ์ ฟิวชั่นและอีกหลายเครือข่ายที่ทำงานกันอย่างเสียสละ

 
บทสรุป

เรื่องดีๆ เหล่านี้เป็นประกายแห่งความหวังที่ทำให้มั่นใจว่า ‘แนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศกำลังดีขึ้น’ คนไทยเอาชนะคอรัปชันได้ แต่จะสำเร็จช้าเร็วเพียงใด ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนและเข้าร่วมของคนไทยทุกคน และนี่คือมิติใหม่ในการสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศไทย ประเทศที่จะไม่ยอมให้ใครมาชี้หน้าว่าขี้โกง

 
ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน

 

Follow LINE: http://bit.ly/2luX9Dt
Follow Facebook: http://bit.ly/2z1Dxvw